วันอังคารที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2551

D@ily diarY

D@ily diarY
วันนี้อากาศไม่เป็นใจอีกวันหนึ่ง ความเครียดเริ่มมาเยือนที่ละนิด

สงสัยว่าคงจะต้องรอลุ้น คงแล้วแต่ชะตาฟ้าลิขิต 7-7

ไหนจะใกล้สอบแล้วซินะ ในช่วงสัปดาห์ก่อนสอบ ก็มีทั้งเร่งเรียนและเร่งสอบ

เพื่อไม่ให้ Stress ไปมากกว่านี้ เรามาอ่านๆ บทความดีๆๆ กันดีกว่านะ ^^

การจัดการกับความเครียด

เราจึงควรทำความเข้าใจกับความเครียดเพื่อจะได้เป็น “นาย” ไม่เป็น “บ่าว” ของความเครียด
ข้อแรก ความเครียด คือ สภาพความไม่สบายกายหรือความไม่สบายใจ อันอาจเกิดจากสภาพแวดล้อม หรือจิตคิดไปเอง

ความไม่สบายอารมณ์หรือความไม่สบายกาย เนื่องจากการถูกตำหนิ ความร้อน ความหนาว ฯลฯ เปรียบเหมือนน้ำ จิตเปรียบเหมือนเรือ ถ้าเราไม่ตักน้ำเข้าเรือ ถ้าเรือไม่รั่ว เรือจะลอยเหนือน้ำเสมอ แต่ถ้าตักน้ำเข้าเรือ หรือจิตอ่อนไหว จิตรั่ว น้ำเข้า เรือก็ล่ม จิตก็หลอน
“ไม่มีทุกข์ใดร้ายเท่าเราคิดไปเอง
ไม่มีสุขใดจะสุขเท่าเราคิดเมตตา
ไม่มีทุกข์ใดร้ายเท่าเราอิจฉา
ไม่มีสุขใดจะสุขเท่าเราคิดมุทิตา
ความสุข ความทุกข์ มีได้ เมื่อใจคิด
ถูกหรือผิด คิดได้ ดังใจหวัง
ขอดวงใจ เป็นคนดี มีพลัง
จนกระทั่ง ใจหมดโศก หมดโรคภัย(ใจ)” http://dental.psu.ac.th/mind/index.php
ข้อสอง ความเครียดเป็นทั้งบวกและลบ ในแง่บวก เป็นแรงกดดันให้เกิดความคิดสร้างสรร เป็นพลังให้ดิ้นรนต่อสู้ ดังคำว่า ความคิดล้ำเลิศ เกิดใต้คมกระบี่ หรือ Necessity is the mother of inventiveness หรือตำราว่า Only the Paranoid Survive
ความเครียดที่พอเหมาะเป็นยาชูกำลัง ถ้าเราจะเครียด ขอให้เครียดในเรื่องควรเครียด เรื่องที่คุ้มค่าจะเครียด ควรมีครบสามองค์ประกอบ คือ หนึ่ง เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเราหรือคนใกล้ชิด สอง เป็นเรื่องใกล้ตัว ไม่ไกลตัว เห็นผลในอนาคตอันใกล้ และสาม เป็นเรื่องที่เราสามารถแก้ไขป้องกันได้ และถ้าไม่แก้ไข ไม่ป้องกัน จะเกิดปัญหาตามมา การเครียดกังวลในเรื่องการเรียนแต่พอควรตั้งแต่เปิดภาคเรียนเป็นเรื่องดี เพราะจะกระตุ้นให้เราไม่ประมาท เตรียมพร้อม ศึกษาค้นคว้าล่วงหน้า
ในแง่ลบ ความเครียดทำร้ายร่างกายหรือจิตใจในระยะยาว บางครั้งทำให้เกิดโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาด ความเครียดคั่งค้างและสะสมในกายและจิตได้นานกว่าความโกรธ จำไว้ “โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า เครียดคือทั้งโง่ทั้งบ้า”
อย่าเครียดเรื้อรัง อย่าเครียดในเรื่องหยุมหยิม เรื่องไม่เป็นเรื่อง เรื่องที่ตัวเองไม่สามาถแก้ไขหรือป้องกันได้ หรือเรื่องอนาคตไกลตัว ตัวอย่างของเรื่องไม่ควรเครียด เช่น สอบไปแล้ว กลับมากังวลในผลการสอบ ซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้
ความเครียดจึงเป็นได้ทั้งมิตรหรือศัตรู ขึ้นอยู่กับเราจะ แปรมิตรเป็นศัตรู หรือแปรศัตรูเป็นมิตร
ข้อสาม เราทุกคนมีความเครียด น้อยบ้าง มากบ้าง ต่างระดับกัน
ความเครียดมีสามระดับ คือ หนึ่ง ระดับ “ปกติ” เช่น เครียดขณะทำงาน เครียดระหว่างรอผลการสมัครสถานศึกษา เป็นต้น สอง ระดับ “เสียสมดุล” เครียดจนปวดตัว กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ระดับนี้เป็นโทษ ต้องปรับตัว และสาม ระดับ “เสียศูนย์” เรียนไม่ได้ ทำงานไม่ได้ คุยกับใครก็ไม่ได้ ไม่อยากมีชีวิต ระดับนี้ต้องปรึกษาแพทย์โดยด่วน
ความเครียดระดับที่เป็นโทษ มีอาการที่สังเกตได้ทั้งจากอารมณ์ ความคิด กิริยาท่าทาง และคำพูด ทางอารมณ์ จะเป็นคนไม่มีความสุข ขี้หงุดหงิด ขี้โมโห ขี้น้อยใจ ขี้ผิดหวัง อย่างไม่มีเหตุผล ทางความคิด จะคิดฟุ้งซ่าน คิดแง่ลบ คิดซ้ำคิดซาก ขี้ลืม สับสน คิดทำร้ายตนเอง ความคิดสร้างสรรและความคิดสุนทรีย์น้อยลง ทางกิริยาท่าทาง จะหน้าบึ้ง ทอดสายตาไม่เป็นมิตร ขาดความอดทนต่อคนอื่น ทางคำพูด ถ้าจะพูด พูดห้วน กระด้าง พูดถากถาง พร้อมโต้แย้ง ถ้าไม่พูด จะเงียบเฉย
เมื่อทุกคนมีความเครียด ดังนั้น เวลาเราเครียด มีปัญหา ให้ปรึกษา ให้ระบาย อย่าอาย หรือเก็บไว้คนเดียว เพราะหลงคิดว่า เราเป็นคนเดียว
ข้อสี่ เราสามารถจัดการความเครียดให้อยู่ในระดับพอเหมาะได้ โดยการฝึกจิต ฝึกสมาธิ ทำให้จิตเสมือนเรือที่ลอยเหนือน้ำ
นายแพทย์เทอดศักดิ์ เดชคง สำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต เสนอหลักการทำสมาธิเพื่อลดความ เครียดง่าย ๆ 3 ขั้นตอน คือ
“1. การหายใจลึกลงไปถึงท้อง (Abdominal Breathing)
2. การวางจิตใจไว้ที่ตำแหน่ง (ใต้สะดือ 1 3/4 นิ้ว)
3. คำภาวนาว่า หายใจเข้า "ผ่อน" หายใจออก "คลาย"
ส่วนรายละเอียด เช่น ท่าทาง (นอนทำ นั่งทำ) ทำนานเท่าไร ตอนไหน ขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้ปฏิบัติ”
นอกจากฝึกจิตแล้ว เราอาจคลายเครียด โดยการหางานอดิเรกทำ ทำในสิ่งที่เราชอบ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ออกกำลังกาย วาดรูป ฯลฯ
การพูดคุยกับคนรู้ใจ เพื่อนสนิท อาจารย์ที่ปรึกษา ญาติผู้ใหญ่ หรือชาว สนร. เพื่อจะระบาย พูดคุยสิ่งที่อัดอั้นตันใจ ก็เป็นอีกวิธีที่ได้ผล

ที่มา: http://www.oeadc.org/oea/e04e38e22e01e31e1a-e2de17e28/plonearticle.2006-03-27.5999847527

ไม่มีความคิดเห็น: